วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จุดเริ่มต้นของการศึกษา

การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา : จุดเริ่มต้นการพัฒนาประเทศ

การพัฒนาประเทศเป็นหน้าที่ของทุกคนในประเทศที่จะต้องเข้าใจหน้าที่ และแสดงบทบาทให้ถูกต้องเหมาะสม กลไกการพัฒนาประเทศมีหลายด้านที่คอยขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านการเมืองการปกครอง ด้านอุตสาหกรรม ด้านการค้าธุรกิจต่างๆ เป็นต้น สิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาประเทศคือการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เพราะการศึกษาของคนในชาติเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงในทุกๆ ด้าน
การให้ความสำคัญในด้านการศึกษาถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับทุกประเทศ สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนแต่เป็นประเทศที่มีประชาชนได้รับการพัฒนาด้านการศึกษาที่ดีมาก่อนแล้วค่อยมุ่งพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป เหตุนี้เองทำให้ทุกภาคส่วนก็เริ่มมีความตระหนักให้ความสำคัญมากขึ้น และปรากฏภาพความชัดเจนขึ้นเมื่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้บัญญัติสาระที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ ผู้ปกครอง องค์กรหน่วยงานต่างๆ ในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา และพัฒนาด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการให้สังคมได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ให้สถานศึกษามีการประสานความร่วมมือกับผู้ปกครอง ชุมชมทุกๆ ฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ ซึ่งสาระและหลักการดังกล่าวล้วนแล้วมีการระบุในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติทั้งสิ้น
สถานศึกษากับชุมชนนั้นคงจะแยกออกจากกันเด็ดขาดไม่ได้ เพราะสถานศึกษาเปรียบเสมือนต้นไม้ ชุมชนเปรียบเหมือนพื้นดิน ยิ่งดินมีคุณภาพเพียงใดก็ย่อมทำให้ต้นไม้เติบโตได้เร็วแข็งแรง มีลำต้น กิ่งกาน ใบ และผลที่ดี มีอายุยืนยาว นอกจากนี้ต้นไม้ยังช่วยยึดดินให้ติดอยู่ด้วยกันไม่ถล่มไปง่ายๆ ส่วนชุมชนเปรียบเหมือนพื้นดินให้ประโยชน์กับต้นไม้ พื้นดินจะดีมีคุณภาพดังที่ได้กล่าวมาแล้วก็เพราะเมื่อต้นไม้เติบโตมากขึ้น ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้แก่จัดก็จะร่วงหล่นลงพื้นดินมันก็กลายเป็นปุ๋ยในดินให้ประโยชน์กับต้นไม้ต่อไปอีกเช่นกัน ฉะนั้นต้นไม้และพื้นดินต้องพึ่งพาอาศัยกันฉันใด ชุมชนกับสถานศึกษาก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันฉันนั้น (สุดา ทัพสุวรรณ.2545 : 23) ดังนั้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษานับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง